ประวัติ ของ แอร์แบร์ที่ 2 เคานต์แห่งแวร์ม็องดัว

แอร์แบร์เป็นบุตรชายของแอร์แบร์ที่ 1 เคานต์แห่งแวร์ม็องดัว[1] เป็นลูกหลานของชาร์เลอมาญ[2] แอร์แบร์สืบทอดต่อดินแดนของบิดาและได้วิหารแซ็ง-เมดาร์ในซัวซงมาเพิ่มในปี ค.ศ. 907 ครองตำแหน่งเป็นอธิการฆราวาสซึ่งทำให้เขาได้สิทธิ์ในรายได้ของวิหารดังกล่าว[1] การแต่งงานกับพระธิดาของพระเจ้ารอแบร์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสทำให้เขาได้เคาน์ตีโมมาอยู่ในการครอบครอง[3]

ในปี ค.ศ. 922 เมื่อเซยุล์ฟกลายเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแร็งส์ เพื่อเอาใจแอร์แบร์ที่ 2 เซยุล์ฟสัญญาว่าจะเสนอชื่อเขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง[4] ในปี ค.ศ. 923 แอร์แบร์จองจำพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ที่ถูกจองจำจนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 929[3] เมื่อเซยุล์ฟเสียชีวิตในปี ค.ศ. 925 ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้ารุดอล์ฟ แอร์แบร์ได้ตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแร็งส์มาให้บุตรชายคนที่สอง อูก ที่ตอนนั้นอายุห้าปี[5] แอร์แบร์เดินหน้าต่อด้วยการส่งคณะทูตไปโรมเพื่อขอการอนุมัติรับรองตำแหน่งจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 10 ที่ให้การอนุมัติในปี ค.ศ. 926[4] ทำให้อูกน้อยผู้ได้รับเลือกถูกส่งตัวไปศึกษาเล่าเรียนที่โอแซร์[2]

ในปี ค.ศ. 926 หลังการเสียชีวิตของเคานต์รอเฌที่ 1 แห่งล็อง แอร์แบร์เรียกร้องตำแหน่งเคานต์ให้กับอูด บุตรชายคนโต[6] เขาท้าทายพระเจ้ารุดอล์ฟด้วยการยึดเมืองอันนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างคนทั้งสองในปี ค.ศ. 927[2] อาศัยการข่มขู่ว่าจะปล่อยตัวพระเจ้าชาร์ลที่ตนจองจำอยู่ แอร์แบร์สามารถครองเมืองอยู่ได้เป็นเวลานานกว่าสี่ปี[2] แต่หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชาร์ลในปี ค.ศ. 929 รุดอล์ฟโจมตีล็องอีกครั้งในปี ค.ศ. 931 และปราบแอร์แบร์ได้สำเร็จ[2] ในปีเดียวกันกษัตริย์ยกทัพเข้าสู่แร็งส์และปราบอาร์ชบิชอปอูก บุตรชายของแอร์แบร์[7] อาร์ทูต์กลายเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแร็งส์คนใหม่[7] จากนั้นในเวลาสามปี แอร์แบร์ที่ 2 เสียวีทรี, ล็อง, ชาโต-ตีแยรี และซัวซง[8] การยื่นมือเข้ามาแทรกแซงของพันธมิตรของแอร์แบร์ พระเจ้าไฮน์ริชผู้เป็นพรานล่านก ทำให้แอร์แบร์ได้ดินแดนกลับคืนมา (ยกเว้นแร็งส์กับล็อง) แลกกับการสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ารุดอล์ฟ

ต่อมาแอร์แบร์จับมือกับอูกมหาราชและวิลเลียมดาบยาว ดยุคแห่งนอร์ม็องดีปราบพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 ที่มอบเคาน์ตีล็องให้แก่รอเฌที่ 2 บุตรชายของรอเฌที่ 1 ในปี ค.ศ. 941 แอร์แบร์กับอูกมหาราชได้แร็งส์กลับคืนมาและจับกุมตัวอาร์โตได้[9] อูก บุตรชายของแอร์แบร์ ได้ตำแหน่งอาร์ชบิชอปกลับคืนมาอีกครั้ง[9] การเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยอีกครั้งของกษัตริย์เยอรมนี พระเจ้าอ็อทโทที่ 1 ในวีเซ ใกล้กับลีแยฌ ในปี ค.ศ. 942 ทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติสุขอีกครั้ง